นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันประสาทวิทยา มอนทรีอัล ทำการศึกษาว่า เกิดอะไรขึ้นในสมองของคนเราในขณะที่กำลังตัดสินใจจะซื้อเพลงซักเพลงเมื่อได้ยินครั้งแรก
การวิจัยครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Science แล้ว โดยชี้ถึงกิจกรรมในสมองบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชื่นชอบเพลงๆหนึ่ง และสามารถทำนายได้ว่า คนฟังจะซื้อเพลงๆนั้นหรือไม่
ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยได้ให้อาสาสมัครฟังเพลง 60 เพลงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนพร้อมทำการถ่ายภาพสมองแบบ functional resonance imaging (fMRI) ไปด้วย
“เมื่อคนฟังเพลงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน กิจกรรมในสมองส่วนหนึ่งจะชัดเจนและสามารถนำไปทำนายได้ว่าพวกเขาอยากจะชอบหรือจะซื้อเพลงนั้นหรือไม่ สมองส่วนที่ว่านี่คือ nucleus accumbens ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความคาดหวัง ซึ่งอาจกลายเป็นความชื่นชอบในเวลาต่อมา” ดร.วาโลรี่ ซาลิมพัวร์ หัวหน้าทีมวิจัยเผย
“สิ่งที่ทำให้เพลงมีพลังต่ออารมณ์มากคือมันสร้างความคาดหวังให้กับคน กิจกรรมในสมองส่วน nucleus accumbens คือตัวที่จะบ่งชี้ได้ว่าเกิดความคาดหวังมากน้อยเพียงใด และการศึกษาของเราก็ระบุว่า ยิ่งกิจกรรมในสมองส่วนนี้ในขณะฟังเพลงมีมากเท่าไหร่ พวกเขาจะยิ่งยินยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อเพลงนั้นมากเท่านั้น”
เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการศึกษาครั้งนี้คือ สมองส่วน nucleus accumbens ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่ทำงานกับสมองส่วน autitory contex อันเป็นสมองส่วนที่จะบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับเสียงและเพลงที่ได้รับฟังมา ยิ่งเพลงนั้นเพราะเท่าไหร่ การเชื่อมต่อระหว่างสมองทั้งสองส่วนก็จะยิ่งชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ การเชื่อมต่อระหว่างสมองส่วน nucleus accumbens กับสมองส่วนอื่นๆก็พบได้เช่นกัน แต่จะมาจากกระบวนการสร้างลำดับเชิงสูง การจดจำรูปแบบที่ซับซ้อน เป็นต้น
กล่าวได้ว่า สมองจะให้รางวัลกับเพลงๆหนึ่งผ่านทางการสารกับวงจรการให้รางวัลด้วยสารสื่อประสาทโดปามีน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างพฤติกรรมที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของมนุษย์ เช่น การกิน การสืบพันธุ์
“เป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียว เพราะว่าเพลงประกอบด้วยเสียงหลายๆเสียงมาเรียบเรียงต่อกันทั้งๆที่เสียงตัวโน้ตตัวเดียวถือว่าไม่มีค่าใดๆเลย แต่เมื่อเรียงต่อกันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในระยะเวลาหนึ่ง สามารถก่อให้เกิด’รางวัล’ขึ้นมาได้ กิจกรรมวงจรของสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวของกับการจดจำรูปแบบ การทำนาย และอารมณ์ทำให้เราสามารถรับรู้ศิลปะและความหมายของเพลงๆหนึ่งได้” ดร.โรเบิร์ต ซาตอร์ นักวิจัยร่วมเผย
“กิจกรรมในสมองของอาสาสมัครแต่ละคนจะมีลักษณะที่เหมือนกันมากเวลาที่พวกเขาฟังแล้วจบลงด้วยการซื้อเพลงๆนั้น แม้ว่าเพลงที่ซื้อนั้นจะไม่เหมือนกันเลย” ดร.ซาลิมพัวร์ เสริม “ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้เรารู้ได้ว่า เหตุใดคนจึงชอบเพลงไม่เหมือนกัน คำตอบคือ แต่ละคนจะมีรูปร่างของ auditory cortex ไม่เหมือนกัน ซึ่งสมองส่วนนี้จะมีลักษณะเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับเสียงและเพลงที่ได้ยินมาตลอดชีวิต นอกจากนี้ รูปแบบของเสียงที่เราเก็บไว้ในสมองส่วนนี้ก็เหมือนจะมีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ในอดีตด้วย”
การศึกษาครั้งนี้ทำให้เราได้รู้แล้วว่า ประสบการณ์ขณะฟังเพลงของมนุษย์นั้นเป็นเช่นไร นักวิจัยอาจจะนำการวิจัยนี้ไปต่อยอดในกระบวนการตั้งราคาเพลงได้ต่อไป
อ้างอิง: McGill University (2013, April 11). What happens in the brain to make music rewarding?. ScienceDaily. Retrieved April 14, 2013, from http://www.sciencedaily.com/releases/2013/04/130411143056.htm
งานวิจัย: V. N. Salimpoor, I. van den Bosch, N. Kovacevic, A. R. McIntosh, A. Dagher, R. J. Zatorre. Interactions Between the Nucleus Accumbens and Auditory Cortices Predict Music Reward Value. Science, 2013; 340 (6129): 216 DOI: 10.1126/science.1231059