
เมื่อย่างเข้าอายุครบ 20 ปี ชายไทยทุกคนหากไม่ได้เรียนรด. ก็จะต้องไปพบกับประสบการณ์อันลุ้นระทึกของการเกณฑ์ทหาร
แม้ด้านหนึ่งสิ่งนี้จะเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจในฐานะชายไทยที่ได้รับใช้ชาติ ทว่ามาถึงยุคนี้หลายคนกลับมองเห็นอีกด้านหนึ่งที่ว่า การถูกเกณฑ์ทหารนั้นเป็นฝันร้ายของชีวิตที่จะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างต้องสะดุดลงมากกว่า
สีสันของการเกณฑ์ทหารจึงมีหลากหลายทั้งการลุ้นจับใบดำใบแดง เหล่าผู้มีชื่อเสียงที่ต้องเข้ารายงานตัว ไปจนถึงการปรากฎตัวตามหน้าที่ชายไทยของบรรดาสาวประเภท 2 ทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม การเกณฑ์ทหารในทุกวันนี้ก็ได้แปรเปลี่ยนสถานะไปแล้ว จากสถานบ่มเพาะความเป็นลูกผู้ชายกลายเป็นฝันร้ายที่หลายคนอยากหนี
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? กลไกอะไรที่ทำให้เกิดความแตกต่างในความรู้สึกของการถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร
หนุ่มสวยชวนมอง
สีสันของการเกณฑ์ทหารในปีนี้เห็นทีจะไม่พูดถึงจะคงไม่ได้ก็คือบรรดาสาวประเภท 2 หรือหนุ่มสวยซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มบุคคลประเภท 2 คือไม่สมบูรณ์ดีแต่ไม่ถึงกับทุพลภาพด้วยเหตุผลว่า
“ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” โดยในปีนี้ก็มีภาพที่ถูกแชร์ลงไปในโลกไซเบอร์มากมาย และเป็นที่กล่าวถึงกันว่า สวยกว่าผู้หญิงเสียอีก
ในปีนี้บรรดาสาวประเภท 2 ทั้งหลายก็แต่งตัวกันมาในชุดที่ผู้ชายหลายคนที่มาเกณฑ์ทหารต่างต้องหันมองเป็นตาเดียว สิ่งหนึ่งที่ดูเปลี่ยนแปลงไปยุคสมัยก่อนคือเสียงโห่ร้องแซวของบรรดาหนุ่มๆ หายไป แต่กลับเป็นท่าทีของการให้เกียรติและปฏิบัติที่ดีขึ้น
เกณฑ์ในการปฏิบัติต่อสาวประเภท 2 นั้นคือจะแบ่งตามสภาพร่างกายเป็น 4 กลุ่ม
1. ผ่านการแปลงเพศแล้ว ไม่ต้องผ่านการเกณฑ์
2. ยังไม่แปลงเพศ แต่ผ่าตัดเสริมหน้าอกจนมีลักษณะเป็นผู้หญิงอย่างชัดเจน ไม่ต้องผ่านการเกณฑ์
3. ยังไม่แปลงเพศ ไม่ได้เสริมหน้าอก แต่ทานฮอร์โมนจนมีหน้าอกขึ้นซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของแพทย์ว่ามีหน้าอกเป็นผู้หญิงหรือไม่ หากเป็นก็ไม่ต้องผ่านการเกณฑ์
4. ไม่แปลกเพศ ไม่ปรากฏหน้าอก มีแต่ลักษณะโดยทั่วไปที่บ่งบอกว่าเป็นสาวประเภท 2 คือเสื้อผ้า ท่าทาง จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนปกติซึ่งจะต้องถูกเกณฑ์ทหาร
ทั้งนี้ การเป็นสาวประเภท 2 นั้นหากยังไม่ได้แปลงเพศ หรือไม่ปรากฏหน้าอกอาจขอผ่อนผันไปก่อน หรือไปตรวจกับโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบกเพื่อขอใบรับรอง
“ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”
การเป็นสาวประเภท 2 นั้นมีสิทธิตามกฎหมายในการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งหากถูกเกณฑ์ให้ไปจับใบดำใบแดงจนต้องเข้าเป็นทหารเกณฑ์ ก็ยังสามารถร้องเรียนกับคณะกรรมการชั้นสูงขอความเป็นธรรมจากการรับรองสิทธิ
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาวประเภทมีการรับรองสิทธิให้ยกเว้นการเกณฑ์ทหาร การขอใช้สิทธิ์นั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทว่าหลายครั้งมันก็เป็นช่องโหว่ให้หลายคนโกงการเกณฑ์ทหารโดยการพยายามตบตาแพทย์จิตเวช ซึ่งหากทำไม่สำเร็จมีความผิดถึงขั้นมีโทษทางอาญาเลยทีเดียว
ดาราพาเหรดไม่ผ่านเกณฑ์
อีกสีสันที่หลายคนจับจ้องในทุกช่วงปีของการเกณฑ์ทหารมาถึง คือบรรดาเหล่าดาราหนุ่มที่ถึงวัยต่างตบเท้าเข้ามารับการเกณฑ์ทหารในแต่ละปี และในปีนี้ก็มีดารามากมายทั้ง
มาริโอ้ เมาเร่อ, อเล็กซ์ เรนเดล จนถึง
ณเดชน์ คูกิมิยะ โดยในปีนี้ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นกรณีของ ดิว เดอะสตาร์ 4 หรือ
ภัทรพล กันตพจน์ ที่ไม่ผ่านเกณฑ์โดยถูกจัดอยู่ในดี 1 ประเภท 2 (คือไม่สมบูรณ์ดีแต่ไม่ถึงกับทุพลภาพ)
“ก็ร่างกายไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สามารถรับราชการทหารได้ (ยิ้มพลางลูบหัวตัวเอง) นี่แหละครับ ร่างกาย ส่วนตัวดีกว่า ทหารเขาเห็นว่าไม่เหมาะสม จริงๆก็อยากรับใช้ชาติอยู่” ดาราหนุ่มเผย
ภายหลังจากที่หลายคนรวมถึงแฟนคลับของเดอะสตาร์คนนี้แสดงความสงสัยว่า ร่างกายส่วนไหนของดาราหนุ่มที่มีปัญหา ดิว เดอะสตาร์ 4 ก็ออกมาเผยว่า เขามีปัญหากับเท้าซ้าย ไม่สามารถใช้งานได้ปกติ จะเป็นตะคริวบ่อย ทำให้ไม่สามารถรับราชการทหารได้ ทั้งยังเล่าเพิ่มเติมว่า เคยผ่าตัดเท้าซ้ายตอนเด็กๆ แต่จำไม่ได้ว่าเป็นพังผืดหรือเนื้องอก หลังจากนั้นเท้าก็ไม่ปกติ
ผู้สื่อข่าวระบุอีกว่า อาการที่เท้าของเขาจะเกิดขึ้นเวลาทำกิจกรรมหนักๆ อากาศเย็น หรือขาดเกลือแร่ ซึ่งต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะหาย โดยเจ้าตัวมองว่าเป็นปัญหาเล็กมากๆ เลยไม่ได้ชี้แจงไปในตอนแรก
อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตว่า มีการทุจริตหรือเปล่า? เพราะหลายคนก็เห็นภาพว่าดาราหนุ่มคนนี้สามารถวิ่งลงแข่งขันได้ ดาราหนุ่มก็ตอบทันทีว่า ไม่ได้มีเหตุผลที่จะต้องทำ ถ้าเป็นไปได้อยากจะรับราชการทหารด้วยซ้ำ และรู้สึกเสียใจที่คนมองในแง่ไม่ดี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็มีดาราหลายคนรอดตัวจากการเกณฑ์ทหารไปได้ด้วยหลายเหตุผลที่แตกต่างกัน
ในปี 2551
เวียร์ - สุกลวัฒน์ มีอาการแขนซ้ายบิดเกจัดอยู่ในประเภท 2 ขณะที่
เต้ - ปิติศักดิ์ เลือกเสี่ยงดวงและจับใบดำได้ ในปี 2552
นิชคุณ หรเวชกุล และ
กอร์ฟ - พิชญะรอดฉลุยไม่ต้องจัดใบดำ - ใบแดงเพราะผู้สมัครเข้าเป็นทหารเต็ม ในปี 2553
อ๊อฟ - ชนะพล ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบุคคลประเภท 3 (คนที่ไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารในขณะนั้นได้ เพราะป่วยและไม่สามารถรักษาให้หายได้ใน 30 วัน) จากสาเหตุปอดแหกเรื้อรังเพราะรถคว่ำเมื่อปีก่อนหน้าที่จะเกณฑ์ทหาร
เมื่อพูดถึงดาราเกณฑ์ทหารนั้น ดาราเกาหลีมักถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบ แม้จะมีข้อแตกต่างที่ว่า ชายเกาหลีทุกคนจะต้องถูกเกณฑ์อย่างเท่าเทียมซึ่งต่างจากประเทศไทยนั้นมีข้อยกเว้นทั้งจากใบดำ - ใบแดง และหลายปัจจัย อย่างไรก็ตามกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ก็มักจะมองบุคคลผู้ไม่ได้รับใช้ชาติว่า ทำตัวไม่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ยังคงมีที่ยืนอยู่ในสังคมได้
ศึกชิงดำ
การเกณฑ์ทหารนั้น ท้ายที่สุดแล้ว จุดที่ชายไทยต้องลุ้นกันอย่างสุดตัวคือการจับใบดำ - ใบแดง หากเป็นใบดำคือรอด หากเป็นใบแดงชายไทยหลายคนถึงขั้นสลบเป็นลมล้มพับ ฉะนั้นศึกชิงดำของการรอดพ้นจากการเกณฑ์ทหารจึงเกิดขึ้น และหลายคนก็ต่างมีวิธีหลากหลายในการทำให้ตัวเองรอดพ้นจากการเกณฑ์ทหาร
โดย
นายนพชัย(ขอสงวนชื่อและนามสกุล) เผยว่ามีวิธีเริ่มจากการเข้าหาสัสดีเขตซึ่งดูแลการเกณฑ์ทหารทั้งหมด โดยจ่ายเงินในอัตราอยู่ที่ 2 หมื่นบาท
“สัสดีจะสามารถเอาชื่อคุณออกจากการจับใบดำใบแดงได้ โดยให้คุณไปขอใบรับรองแพทย์ว่ามีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น สายตาสั้นทั้งที่ไม่ได้สวมแว่น อ้วนผิดปกติ แขนบิดเบี้ยวผิดปกติ”
ซึ่งถ้าจับได้ใบแดงต้องเข้าเป็นทหารเกณฑ์แล้ว ก็ยังมีวิธีหลีกเลี่ยงโดยจะต้องไปติดต่อกับสัสดีซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนพ่อค้าคนกลางที่จะทำการโยกย้ายผู้โดนเกณฑ์ทหารให้ไปยังเขตที่ตนเองมีเส้นสายได้
“ในชั้นนี้ยังคงต้องฝึกก่อนถูกจำหน่ายซึ่งหากมีเส้นสายได้ก็จะถูกจำหน่ายให้ไปทำงานที่บ้าน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ โดยจะต้องแลกกับเงินเดือนที่จะได้ในฐานะทหารเกณฑ์”
โดยภาพของทหารเกณฑ์นั้นก็มีภาพลบที่สังคมมองว่าต้ำต้อย
ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คอลัมนิสต์เกี่ยวกับการเมืองและการทหาร วิเคราะห์ว่าการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยถูกเกณฑ์ไปรับใช้นายทหารชั้นผู้ใหญ่มากกว่าไปรับใช้ชาติ
“มันเหมือนทุกคนจะมองภาพว่ามันต่ำต้อยกันจนเคยชินไปแล้ว เป็นมาตั้งแต่สมัยก่อน ซึ่งมันก็มีทหารเกณฑ์ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ถูกส่งไปรบ อาจจะเพราะอัตรามันเต็มแล้ว เลยถูกส่งไปเป็นทหารรับใช้แทนนายทหารสามารถเอาเขาไปรับใช้ได้ ซึ่งบางคนเขาก็ชอบนะ เพราะไม่ต้องไปออกรบ อยู่ในบ้านนายทหารทำนู่นทำนี่ มันก็มี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน”
ดร.พิชายเผยว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการจูงใจเพื่อให้คนอยากเป็นทหาร เป็นทหารอาสาอย่างเป็นมืออาชีพมากกว่าใช้ระบบเกณฑ์ทหาร
“ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาเขาก็ทำอย่างนั้น ไม่ต้องมานั่งขืนใจจับใบดำใบแดงกันแบบเรา แต่เขาใช้วิธีจูงใจให้คนอยากเป็นทหารอาสาด้วยการมอบสวัสดิการ ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เหมือนกับทำเป็นอาชีพไปเลยสังคมประชาธิปไตยเขาทำกันแบบนั้นแหละครับ แต่สำหรับประเทศที่ยังไม่พัฒนา ประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่ ก็จะใช้ระบบทหารเกณฑ์กันแบบนี้นี่แหละ”
การเกณฑ์ทหารในแง่มุมหนึ่งจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อรวมกับการโกงเพื่อไม่ให้ถูกเกณฑ์ทหารก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในทางปฏิบัติของระบบที่ความยุติธรรมมีให้เฉพาะกับผู้มีเส้นสายหรือผู้มีนอกมีในกับระบบ
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live