
องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือ เซิร์น ซึ่งมีบทบาทหลักในการจัดเตรียมเครื่องเร่งอนุภาคและโครงสร้างอื่นที่จำเป็นต่อการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาค และเป็นสถานที่ทำการทดลองมากมายที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้เปิดโอกาสให้ประเทศไทยจัดส่งครูสอนฟิสิกส์เข้าร่วมโครงการครูสอนฟิสิกส์ภาคฤดูร้อนเซิร์น
ตามโครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น ณ สมาพันธรัฐสวิส เพื่อสนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพด้านฟิสิกส์ให้แก่เด็ก เยาวชน ครู และนักวิจัยไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในช่วงที่ผ่านมาได้มีครูฟิสิกส์คนเก่งจากโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ อาทิ ครูสุพัตรา ทองเนื้อห้า รร.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และ ครูพิมพร ผาพรม รร.ท่าคันโทวิทยาคาร จ.กาฬสินธุ์ เข้าร่วมโครงการรุ่นที่ 1 ในปี 2553 ครูสุรศักดิ์ ศรีสุวงศ์ รร.เกษมสีมาวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี เข้าร่วมโครงการรุ่นที่ 3 ในปี 2555 และล่าสุด คือ ครูปิยะมาศ บุญประกอบ รร.วัดบวรนิเวศ และ ครูบุษกร การอรชัย รร.สุราษฎร์ธานี 2 เข้าร่วมโครงการรุ่นที่ 4 ในปีนี้หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้ว ครูสุพัตรา ทองเนื้อห้า หรือครูจ๋า ได้นำความรู้ที่ได้จากเซิร์น โดยเฉพาะ “เครื่องตรวจจับอนุภาคอย่างง่าย” หรือ “Cloud Chamber” สื่อการเรียนรู้ฟิสิกส์จากเซิร์นมาขยายผลต่อในชั้นเรียน ม.ปลาย รวมทั้งเพื่อนครูด้วย
ครูสุพัตรา บอกว่า การจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับฟิสิกส์ยุคใหม่ และฟิสิกส์อนุภาคในระดับ ม.ปลาย อยู่ในบทเรียนเรื่องอะตอมและฟิสิกส์นิวเคลียร์ แต่เนื่องจากเป็นสิ่งที่ตาเปล่ามองไม่เห็น จึงทำให้หลายครั้งที่นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ตื่นเต้น เมื่อต้องเรียนจากการท่องจำอย่างเดียว แต่ Cloud Chamber จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนตื่นเต้นสนใจที่จะเรียนรู้กับการทดลองทางฟิสิกส์ง่าย ๆ มหัศจรรย์กับสิ่งที่ปกติแล้วมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่เมื่อใช้อุปกรณ์นี้แล้วจะทำให้เห็นร่องรอยการเคลื่อนที่ของอนุภาคเรียนรู้และทำความเข้าใจได้ว่าอนุภาคมีจริง เนื่องจากอะตอมเป็นเรื่องใกล้ตัว อะตอมเป็นองค์ประกอบของสสารทุกชนิดบนโลก ถ้านักเรียนเรียนอย่างเข้าใจก็จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่การทำโครงงานต่าง ๆ ได้
“สื่อการเรียนรู้นี้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย เช่น ถ้วยอะลูมิเนียมทาสีดำ แก้วพลาสติกใส ผ้าฟองน้ำ น้ำแข็งแห้ง ไฟฉาย Isopropyl Alcohol ลวดเส้นเล็ก โดยบทบาทของครูคือเตรียมอุปกรณ์และบรรยากาศห้องให้พร้อม หลังจากนั้นเพียงไม่กี่นาทีหลังทำกิจกรรมก็จะมีคำถามที่น่าสนใจจากเด็ก ๆ เกิดขึ้นมากมายในชั้นเรียน บางคำถามของนักเรียนอาจนำไปสู่การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจได้อีกด้วย”
ครูสุพัตรา ยังฝากด้วยว่า สำหรับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับครูฟิสิกส์ด้วยแล้วเป็นเรื่องสำคัญ เพราะองค์ความรู้ทางฟิสิกส์ส่วนใหญ่ได้จากต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านฟิสิกส์ที่ครูสามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม แล้วนำมาถ่ายทอดให้แก่นักเรียน หากครูมีทักษะภาษาอังกฤษก็จะได้ประโยชน์อีกมาก.
สินีนาฏ ทาบึงกาฬ
ที่มา http://www.dailynews.co.th/education/197965