
จากการวิเคราะห์พันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดนกที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 9 รายในจีนพบว่า ไวรัสกำลังปรับตัวให้เข้ากับเซลล์ของมนุษย์ นำมาซึ่งความหวั่นวิตกครั้งใหม่ว่าจะทำให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก
งานวิจัยครั้งนี้ นำโดย มาซาโตะ ทาชิโร่ แห่งศูนย์วิจัยไวรัสไข้หวัดใหญ่ สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ และ โยชิฮิโร่ คาวาโอกะ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน และมหาวิทยาลัยโตเกียว งานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Eurosurveillance แล้ว โดยทีมวิจัยได้ศึกษาลำดับของยีนไวรัส H7N9 ที่ได้จากผู้ป่วยไข้หวัดนก 4 รายและตัวอย่างจากนกบางตัว รวมทั้งจากสิ่งแวดล้อมในตลาดเซี่ยงไฮ้
“ไวรัสที่มาจากมนุษย์มีการกลายพันธุ์ของโปรตีนที่ทำให้สามารถเติบโตในเซลล์ของมนุษย์ได้ แต่ตัวอย่างจากนกและสิ่งแวดล้อมไม่มีการกลายพันธุ์ดังกล่าว การกลายพันธุ์นี้จะทำให้ไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ในอุณหภูมิที่สอดคล้องกับระบบหายใจส่วนบนของมนุษย์ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ต่ำกว่าในร่างกายนก” คาวาโอกะ ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดนกเผย
การศึกษาครั้งนี้ได้ข้อมูลมาจากลำดับของยีนที่นักวิจัยชาวจีนได้ศึกษาและเก็บไว้ในฐานข้อมูลนานาชาติแล้ว ทำให้เราได้ร่องรอยทางโมเลกุลแล้วว่า ไวรัสไข้หวัดนกชนิดใหม่ช่างน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยเคสแรกที่พบนั้นคือวันที่ 31 มีนาคม ที่พบที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน นอกจากนี้ ไวรัสชนิดใหม่นี้ทำให้คนติดเชื้อไปแล้วกว่า 33 ราย เสียชีวิตไปแล้วถึง 9 ราย และแม้ว่าปัจจุบันจะยังเร็วเกินไปที่จะทำนายว่าจะการแพร่กระจายจะเป็นอย่างไร แต่สัญญาณที่บอกว่าไวรัสนี้กลายพันธุ์เพื่อเจริญเติบโตในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะมนุษย์นั้น ก็เป็นสิ่งที่บอกว่า การวิจัยเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผิดพลาดไม่ได้เลย
คาวาโอกะเสริมว่า “การเข้าถึงข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัสเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำความเข้าใจว่า ไวรัสจะมีวิวัฒนาการอย่างไร และเราจะได้พัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันได้ต่อไป”
สำหรับไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นจะร้ายแรงเพียงใดก็ขึ้นกับความสามารถของมันในการยึดติดและความสามารถในการสั่งการเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ให้จำลองและแพร่กระจายตัวมันเองออกไป แต่ไข้หวัดนกส่วนใหญ่แล้วจะไม่ติดต่อสู่คน แต่บางครั้งก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับร่างกายคนได้ และไปเพิ่งความเสี่ยงอื่นๆต่อสุขภาพของมนุษย์
“ไวรัสพวกนี้สามารถไปเปลี่ยนคุณลักษณะบางอย่างของไวรัสไข้หวัดใหญ่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ ซึ่งก็อาจจะมีความสามารถที่จะไปติดเชื้อในมนุษย์ต่อได้ และมีแนวโน้มที่จะติดต่อไปสู่คนอื่นได้ด้วย”
คาวาโอกะ อธิบายว่า ไวรัสส่วนใหญ่ในการศึกษาครั้งนี้ ทั้งจากคนและนกนั้น จะมีการกลายพันธุ์ที่ผิวของโปรตีน hemagglutinin ซึ่งเชื้อโรคใช้ในการจับเข้ากับเซลล์โฮสต์ คาวาโอกะชี้ว่าการกลายพันธุ์นี้จะทำให้พวกมันสามารถติดเชื้อสู่เซลล์มนุษย์ได้โดยง่าย
นอกจากนี้ ตัวอย่างที่ได้จากผู้ป่วยยังมีการกลายพันธุ์อีกแบบที่ทำให้ไวรัสสามารถจำลองตัวเองภายในเซลล์ของมนุษย์ได้ การกลายพันธุ์นี้ทำให้ไวรัสไข้หวัดนกสามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติในบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบนของมนุษย์ โดยเฉพาะบริเวณจมูกและลำคอ
อ้างอิง: University of Wisconsin-Madison (2013, April 12). Could new flu spark global flu pandemic? New bird flu strain seen adapting to mammals, humans. ScienceDaily. Retrieved April 14, 2013, from http://www.sciencedaily.com/releases/2013/04/130412192402.htm
งานวิจัย: Kageyama T, Fujisaki S, Takashita E, Xu H, Yamada S, Uchida Y, Neumann G, Saito T, Kawaoka Y, Tashiro M. Genetic analysis of novel avian A(H7N9) influenza viruses isolated from patients in China, February to April 2013. Eurosurveillance, 2013