ประเทศไทยได้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา มีน้ำท่วมขังตั้งแต่ภาคเหนือไล่ลงมาจนถึงภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุทกภัยดังกล่าวนำมาซึ่งความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาล และเมื่อมีน้ำท่วมขังในชุมชนและเขตเมือง ก่อให้เกิดปัญหาทางอนามัยและสาธารณสุขจากยุงในบริเวณที่น้ำขังก่อให้เกิดความรำคาญ ตลอดจนก่อให้เกิดโรคร้ายตามมาได้ ยุงจึงเป็นปัญหาต่อเนื่องที่ติดตามมากับสถานการณ์น้ำท่วม อีกทั้งสภาพชุมชนแออัดในเขตเมืองที่มีการขังของน้ำใต้ถุนบ้าน และสภาวะอุทกภัย ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามแหล่งต่างๆ ในวงกว้างเอื้อต่อการเจริญเติบโตของยุงหลายชนิด โดยเฉพาะ “ยุงรำคาญ” เช่น Cx. quinquefasciatus พบมากในแหล่งน้ำเน่าเสีย เป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ เท้าช้าง และ โรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข การควบคุมตัวยุง โดยปกติใช้สารเคมี หรือหมอกควันไล่ยุง อาจกำจัดยุงได้ไม่มากนัก การควบคุมประชากรยุงจึงน่าจะควบคุมที่ระยะลูกน้ำควบคู่กันไปด้วย โดยการใช้จุลินทรีย์ถือว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าการใช้สารเคมี เนื่องจาก มีความปลอดภัย และต้นทุนต่ำกว่า
|